วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บทความ "เจตคติกับการเรียนรู้คณิตศาสตร์"

เจตคติกับการเรียนรู้คณิตศาสตร์

นางพรรณี  อุ่นละม้าย รหัส 5751751603301
ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาคณิตศาสตรศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

บทนำ
          จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่เลือกเรียนสาขาภาษาอังกฤษ-ภาษาจีน พบว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่นักเรียนเลือกเรียนสาขานี้ก็เนื่องด้วย นักเรียนไม่ต้องการที่จะเรียนคณิตศาสตร์ หรือถ้าจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ คือ ขอไม่คบค้าสมาคมกับวิชาคณิตศาสตร์โดยเด็ดขาด  และเมื่อนักเรียนสาขานี้ต้องมาเรียนคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่นักเรียนเหล่านั้นไม่ต้องการจะเรียน จึงเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะทำให้การจัดการเรียนการสอนให้ประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าเราจะพร่ำสอนให้นักเรียนฟังทุกวันว่า “คณิตศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาต่อในอนาคตและการดำรงชีวิต” มันก็ไม่ได้ช่วยให้นักเรียนเหล่านั้นรู้สึกอยากเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น เพราะนักเรียนยังไม่ได้รู้สึกดีกับการเรียนคณิตศาสตร์ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่า เราจะจัดการอย่างไรเพื่อให้นักเรียนสาขานี้หันกลับมายอมรับที่จะเรียนคณิตศาสตร์ด้วยความเต็มใจต่างหาก

เนื้อหาของเรื่อง
          “ยาก น่าเบื่อ คิดซับซ้อนเกินกว่าที่จะทำได้” เป็นความคิดเห็นส่วนใหญ่ของภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในวิชาคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สาขาภาษาอังกฤษ-ภาษาจีนที่มีผลมาจากการที่ผู้เขียนได้ทำการสอบถามนักเรียนสาขานี้ในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ซึ่งผลที่ได้ก็สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เขียนได้ประสบมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ผ่านมา จนในที่สุดผู้เขียนรู้สึกว่า มันน่าจะมีวิธีการหรือแนวทางในการที่จะทำให้นักเรียนรู้สึกว่า   วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่สามารถเรียนรู้ได้ คิดได้ มีวิธีการที่หาผลลัพธ์โดยการใช้หลักของเหตุและผลในการเรียน ซึ่งไม่ยากเกินกว่าที่จะทำได้ ซึ่งถ้านักเรียนรู้สึกดีกับวิชาคณิตศาสตร์แล้ว นักเรียนน่าจะอยากเรียนรู้มากขึ้นและเรียนรู้ด้วยความเต็มใจ สอดคล้องกับคำกล่าวของ Maslow (อ้างใน พรรณี ช.เจนจิต.2538 : 438 -439) ได้เสนอแนวความคิดใหม่ เรียกว่า Third Force Psychology ซึ่งมีความเชื่อพื้นฐานว่า ถ้าให้อิสรภาพแก่เด็ก เด็กจะเลือกสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง พ่อแม่และครูได้รับการกระตุ้นให้มีความไว้วางใจในตัวเด็กและควรเปิดโอกาสและช่วยให้เด็กเจริญเติบโตต่อไป ไม่ใช่ใช้วิธีการควบคุมและบงการชีวิตของเด็กทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ เมื่อคิดได้ดังนั้น ผู้เขียนจึงพยายามหาวิธีและยุทธวิธีต่างๆ เพื่อที่จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ คือทำอย่างไรก็ได้ให้นักเรียนสาขานี้กลับมาเรียนคณิตศาสตร์ด้วยความเต็มใจ แต่เพื่อให้ผู้เขียนได้รับความรู้และแนวคิดที่ถูกต้องในการที่จะชักจูงให้นักเรียนหันกลับมาเรียนคณิตศาสตร์ด้วยความเต็มใจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ต่อไปอย่างยั่งยืน ผู้เขียนจึงเริ่มลงมือศึกษาหาความรู้ที่เป็นแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับเจตคติและทฤษฎี    การเรียนรู้ดังนี้
1. แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับเจตคติต่อวิชาคณิตศาสตร์
เจตคติ หมายถึง ท่าทีของบุคคลและความรู้สึกที่แสดงออกต่อสิ่งที่ได้รับมาจากประสบการณ์ และแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่ได้รับนั้น อาจจะโน้มเอียงไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งอาจจะเป็นด้านที่ดีหรือไม่ดีก็ได้
          เจตคติต่อวิชาคณิตศาสตร์ หมายถึง ความรู้สึกหรือความคิดเห็นต่อวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งวัดได้จากแบบสอบถาม (ยุพิน พิพิธกุล. 2527: 13 ;พรรณี ช.เจนจิต. 2528: 543 ;พวงรัตน์ ทวีรัตน์. 2540: 108)
          องค์ประกอบของเจตคติแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1.  องค์ประกอบทางด้านความรู้ ความคิด ความเข้าใจ
2.  องค์ประกอบทางด้านความรู้สึก
3.  องค์ประกอบด้านพฤติกรรมที่กระทำหรือปฏิบัติ
          องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนดังกล่าว มีความสัมพันธ์กัน คือ องค์ประกอบด้านความรู้ ความคิด ความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของบุคคลที่อาจจะแสดงความรู้สึกออกมาในรูปพอใจ ไม่พอใจ ชอบ ไม่ชอบ ฯลฯ ซึ่งความรู้สึกก็จะมีผลต่อการแสดงออกของบุคคลนั้นในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
2. แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้
1. ทฤษฎีการเรียนรู้ (Theories of Learning)
Operant Conditionning ทฤษฏีนี้ได้เน้นถึงความสำคัญของการเสริมแรงโดย Skinner มีความคิดเห็นว่า การเสริมแรงจะมีส่วนช่วยให้มนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม พฤติกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะที่ว่าอัตราการแสดงการกระทำต่าง ๆ มักจะมีการกระทำต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เสมอ ๆ พฤติกรรมใดก็ตามที่ได้เป็นการกระทำต่อสิ่งแวดล้อมในลักษณะที่ว่าเป็นผลของอัตราการตอบสนองซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงได้ เราเรียกสิ่งที่ทำให้อัตราการตอบสนองของผู้เรียนมีการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า ตัวเสริมแรง แต่ถ้าพฤติกรรมใดก็ตามไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว หลักการของทฤษฎีนี้ถือว่า พฤติกรรมนั้นไม่ได้รับการเสริมแรง
ทฤษฎีของ Skinner นี้อาจนำมาใช้ในการวัดพฤติกรรม หรือปลูกฝังพฤติกรรม หรือสร้างลักษณะนิสัยใหม่ ๆ ได้ วิธีการวัดพฤติกรรมนี้จำเป็นจะต้องใช้สิ่งเสริมแรงเข้าช่วยในระยะที่ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมที่จะต้องการปลูกฝัง นั่นคือถ้าผู้เรียนกระทำพฤติกรรมตามที่ต้องการจะให้เกิดพฤติกรรมแล้ว จะต้องรีบให้รางวัลโดยทันที
2. ทฤษฎีความรู้ความเข้าใจ หรือทฤษฎีปัญญา (Cognitive Theories)
          พรรณี ช.เจนจิต (2538:404 406) ได้สรุปแนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มนี้มีความเห็นว่า การศึกษาพฤติกรรมควรเน้นความสำคัญของกระบวนการคิด และการรับรู้ของคน ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าคนทุกคนมีธรรมชาติภายในที่ใฝ่ใจใคร่รู้ใคร่เรียน เพื่อก่อให้เกิดสภาพที่สมดุล ดังนั้นการที่เด็กได้มีโอกาสเรียนตามความต้องการ และความสนใจของตน จะเป็นสิ่งที่มีความหมายสำหรับเด็กมากกว่าที่ครูหรือผู้อื่นจะเป็นผู้บอกให้ ซึ่งก็คือ การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
          3. ทฤษฎีของกลุ่มมนุษยนิยม (Humanisticism)
          กลุ่มมนุษยนิยมจะคำนึงถึงความเป็นคนของคน จะมองธรรมชาติของมนุษย์ในลักษณะที่ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับความดีที่ติดตัวมาแต่กำเนิด มนุษย์เป็นผู้ที่มีอิสระสามารถที่จะนำตนเอง และพึ่งตนเองได้ เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำประโยชน์ให้สังคม มีอิสรเสรีภาพที่จะเลือกทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะไม่ทำให้ผู้ใดเดือนร้อน ซึ่งรวมทั้งตนเองด้วย มนุษย์เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ และเป็นผู้สร้างสรรค์สังคม
         Maslow (อ้างใน พรรณีช.เจนจิต.2538 : 438 -439) ได้เสนอแนวความคิดใหม่ เรียกว่า Third Force Psychology ซึ่งมีความเชื่อพื้นฐานว่า ถ้าให้อิสรภาพแก่เด็ก เด็กจะเลือกสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง พ่อแม่และครูได้รับการกระตุ้นให้มีความไว้วางใจในตัวเด็กและควรเปิดโอกาสและช่วยให้เด็กเจริญเติบโตต่อไป ไม่ใช่ใช้วิธีการควบคุมและบงการชีวิตของเด็กทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ
           Rogers (อ้างใน พรรณี ช.เจนจิต. 2538 :440-441) ได้เสนอทฤษฎีให้คำปรึกษาแบบ “Client Centered” เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนแล้วจะออกมาในลักษณะของ ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และลักษณะของครูจะต้องเป็นผู้ที่มีความเชื่อ มีศรัทธาในความเป็นคนของคน การที่เชื่อและไว้วางใจในความสามารถของบุคคล จะช่วยให้บุคคลนั้น ๆ พัฒนาศักยภาพของตนเองได้ดียิ่งขึ้น ฉะนั้น ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกวิธีการที่จะเรียนเอง
         
บทสรุป
นอกเหนือจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว การที่ครูจะชักจูงนักเรียนให้หันกลับมาเรียนคณิตศาสตร์ด้วยความเต็มใจแล้ว ครูยังจะต้องมีลักษณะ จริงใจ เป็นคนตรง ไม่แสแสร้ง ในการสร้างสัมพันธภาพจะต้องเป็นตัวของตัวเองอย่างจริง ๆ สิ่งสำคัญคือ ครูจะต้องพยายามสื่อให้เด็กรับทราบถึงความรู้สึก  นึกคิดที่ดี ที่ครูมีต่อตัวเด็กให้ได้ ครูจะต้องให้เกียรตินักเรียนทั้งในแง่ของความรู้สึก และความคิดเห็น สิ่งสำคัญสำหรับเจตคติของการเป็นครู คือ ความสามารถที่จะเข้าใจปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากภายในตัวเด็ก ตลอดจนการให้ความสำคัญถึงกระบวนการของการศึกษาที่จะมีผลต่อตัวเด็กเองด้วย    อีกทั้งครูยังต้องมีกลยุทธ์ กระบวนการสอน อุปกรณ์การสอน และเคล็ดลับดีๆที่จะนำเสนอต่อผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในสิ่งที่เรียนมากขึ้น อีกทั้งลบคำเบื่อของนักเรียนด้วย

อ้างอิง
พรรณี  ช.เจนจิต. (2538).  จิตวิทยาการเรียนการสอน. กรุงเทพฯ: ต้นอ้อแกรมมี่.
พวงรัตน์ ทวีรัตน์. (2530). การสร้างและพัฒนาแบบทดสอบผลสัมฤทธิ์.กรุงเทพฯ :
           สำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร.
ยุพิน พิพิธกุล. (2539). การเรียนการสอนคณิตศาสตร์. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.

http://www.mc41.com  เวบไซต์การศึกษา เพื่อครูอาจารย์ และลูกหลานไทย

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สื่อและนวัตกรรรมสำหรับการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์

ความหมายของสื่อ 
          เมื่อพิจารณาคำว่า "สื่อ" ในภาษาไทยกับคำในภาษาอังกฤษ พบว่ามีความหมายตรงกับคำว่า "media" (ในกรณีที่มีความหมายเป็นเอกพจน์จะใช้คำว่า "medium") "สื่อ" (Media) เป็นคำที่มาจากภาษาละตินว่า "medium" แปลว่า "ระหว่าง" หมายถึง สิ่งใดก็ตามที่บรรจุ ข้อมูลเพื่อให้ผู้ส่งและผู้รับสามารถสื่อสารกันได้ตรงตามวัตถุประสงค์
          คำว่า "สื่อ" ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ ความหมายของคำนี้ไว้ดังนี้ "สื่อ (กริยา) หมายถึง ติดต่อให้ถึงกัน เช่น สื่อความหมาย, ชักนำให้รู้จักกัน สื่อ (นาม) หมายถึง ผู้หรือสิ่งที่ติดต่อให้ถึงกันหรือชักนำให้รู้จักกัน เช่น เขาใช้จดหมายเป็นสื่อติดต่อกัน, เรียกผู้ที่ทำหน้าที่ชักนำให้ชายหญิงได้แต่งงานกันว่า พ่อสื่อ หรือ แม่สื่อ; (ศิลปะ) วัสดุต่างๆ ที่นำมาสร้างสรรค์งานศิลปกรรม ให้มีความหมายตามแนวคิด ซึ่งศิลปินประสงค์แสดงออกเช่นนั้น เช่น สื่อผสม" 
นักเทคโนโลยีการศึกษาได้มีการนิยามความหมายของคำว่า "สื่อ" ไว้ดังต่อไปนี้ 
          Heinich และคณะ (1996)  Heinich เป็นศาสตราจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีระบบการเรียนการสอน ของมหาวิทยาลัยอินเดียน่า (Indiana University) ให้คำจำกัดความคำว่า "media" ไว้ดังนี้ "Media is a channel of communication." ซึ่งสรุปความเป็นภาษาไทยได้ดังนี้ "สื่อ คือช่องทางในการติดต่อสื่อสาร" Heinich และคณะยังได้ขยายความเพิ่มเติมอีกว่า "media มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน มีความหมายว่า ระหว่าง (between) หมายถึง อะไรก็ตามซึ่งทำการบรรทุกหรือนำพาข้อมูลหรือสารสนเทศ สื่อเป็นสิ่งที่อยู่ระหว่างแหล่งกำเนิดสารกับผู้รับสาร
          "A. J. Romiszowski (1992) ศาสตราจารย์ทางด้านการออกแบบ การพัฒนา และการประเมินผลสื่อการเรียนการสอน ของมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ (Syracuse University) ให้คำจำกัดความคำว่า "media"     ไว้ดังนี้ "the carriers of messages, from some transmitting source (which may be a human being or an inanimate object) to the receiver of the message (which in our case is the learner)" ซึ่งสรุปความเป็นภาษาไทยได้ดังนี้ "ตัวนำสารจากแหล่งกำเนิดของการสื่อสาร (ซึ่งอาจจะเป็นมนุษย์ หรือวัตถุที่ไม่มีชีวิต ) ไปยังผู้รับสาร (ซึ่งในกรณีของการเรียนการสอนก็คือ ผู้เรียน)" 
           สรุปได้ว่า สื่อ หมายถึง สิ่งใดๆ ก็ตามที่เป็นตัวกลางระหว่างแหล่งกำเนิดของสารกับผู้รับสาร เป็นสิ่งที่นำพาสารจากแหล่งกำเนินไปยังผู้รับสาร เพื่อให้เกิดผลใดๆ ตามวัตถุประสงค์ของการสื่อสาร

ความหมายของสื่อการสอนและสื่อการเรียนรู้ 
           ความหมายของสื่อการสอน ได้มีนักวิชาการ และนักเทคโนโลยีการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ให้ความหมายของ สื่อการสอนไว้หลายท่าน พอสรุปได้ ดังนี้
           เชอร์ส (Shores. 1960 : 1) กล่าวว่า สื่อการสอนเป็นเครื่องมือช่วยสื่อความหมายใด ๆ ก็ตามที่จัดโดยครูและนักเรียน เพื่อเสริมการเรียนรู้ เครื่องมือการสอนทุกชนิดเป็นสื่อการสอน เช่น หนังสือในห้องสมุด โสตทัศนวัสดุต่าง ๆ ทรัพยากรจากชุมชน เป็นต้น
            ฮาส และแพคเกอร์ (Hass and PacKer. 1964 : 11) กล่าวว่า สื่อการสอน คือ เครื่องมือที่ช่วยในการถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นจริงได้แก่ ทักษะ ทัศนะคติ ความรู้ ความเข้าใจ และความซาบซึ้งไปยังผู้เรียน หรือเป็นเครื่องมือประกอบการสอน ที่เราสามารถได้ยินและมองเห็นได้เท่า ๆ กัน 
            บราวน์ และคนอื่น ๆ (Brown and other. 1964 : 584) กล่าวว่า สื่อการสอนหมายถึง จำพวกอุปกรณ์ทั้งหลายที่สามารถเสนอความรู้ให้แก่ผู้เรียน จนเกิดผลการเรียนที่ดีทั้งนี้รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ไม่เฉพาะที่เป็นวัสดุหรือเครื่องมือเท่านั้น เช่น การศึกษานอกสถานที่ การสาธิต การทดลอง ตลอดจนการสัมภาษณ์ เป็นต้น
         เกอร์ลัช และอีลี (ไชยยศ เรืองสุวรรณ. 2526 :141 : อ้างอิงมาจาก Gerlach and Ely.) ได้ให้คำจำกัดความของสื่อการสอนไว้ว่า สื่อการสอน คือ บุคคล วัสดุหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งทำให้นักเรียนได้รับความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ครู หนังสือ และสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนจัดเป็นสื่อการสอนทั้งสิ้น 
          ไฮนิคส์ โมเลนดาและรัสเซล (Heinich, Molenda and Russel. 1985 : 5) ให้ทัศนะเกี่ยวกับสื่อการสอนไว้ว่า สื่อการสอน หมายถึง สื่อชนิดใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นสไลด์โทรทัศน์วิทยุเทปบันทึกเสียงภาพถ่ายวัสดุฉาย และวัตถุสิ่งตีพิมพ์ซึ่งเป็นพาหนะในการนำข้อมูลจากแหล่งข้อมูลไปยังผู้รับ เมื่อนำมาใช้กับการเรียนการสอน หรือส่งเนื้อหาความรู้ไปยังผู้เรียนในกระบวนการเรียนการสอน เรียกว่า สื่อการสอน 
         เปรื่อง กุมุท (2519 : 1) กล่าวว่า สื่อการสอน หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องมือ หรือช่องทางสำหรับทำให้การสอนของครูถึงผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายที่วางไว้อย่างดี 
        วาสนา ชาวหา(2522:59)กล่าวว่าสื่อการสอนหมายถึงสิ่งใดๆก็ตามที่เป็นตัวกลางนำความรู้ไปสู่ผู้เรียน และทำให้การเรียนการสอนเป็นไป ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้  
         ไชยยศ เรืองสุวรรณ (2526 : 4) กล่าวว่า สื่อการสอน หมายถึง สิ่งที่ช่วยให้การเรียนรู้ ซึ่งครูและนักเรียนเป็นผู้ใช้เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 
         ชม ภูมิภาค (2526 : 5) กล่าวว่า สื่อการสอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีการสอน เป็นพาหนะที่จะนำสารหรือความรู้ไปยังผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ 
         ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2529 : 112) ให้ความหมายของสื่อการสอนว่า คือวัสดุ (สิ้นเปลือง) อุปกรณ์ (เครื่องมือที่ใช้ไม่ผุพังง่าย) วิธีการ (กิจกรรม เกม การทดลอง ฯลฯ) ที่ใช้สื่อกลางให้ผู้สอนสามารถส่ง หรือถ่ายทอดความรู้ เจตคติ (อารมณ์ ความรู้สึก ความสนใจ ทัศนคติ และค่านิยม) และทักษะไปยังผู้เรียน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พิมพ์พรรณ เทพสุมาธานนท์ (2531 : 29) กล่าวว่าสื่อการสอนหมายถึงสิ่งต่างๆที่ใช้เป็นเครื่องมือหรือช่องทางสำหรับให้การสอนของครูกับผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์ หรือจุดมุ่งหมายที่ผู้สอนวางไว้เป็นอย่างดี
สรุปได้ว่า สื่อการสอน หมายถึงวัสดุ เครื่องมือและเทคนิควิธีการที่ผู้สอนนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความหมายของนวัตกรรม
“นวัตกรรม” (Innovation) มีรากศัพท์มาจาก innovare ในภาษาลาติน แปลว่า ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา ความหมายของนวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์คือ การนำ แนวความคิดใหม่หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบ ใหม่ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือก็คือ “การทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ (Change) ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราให้กลายมาเป็นโอกาส (Opportunity) และถ่ายทอดไปสู่แนวความคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม” แนวความคิดนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยจะเห็นได้จากแนวคิดของนักเศรษฐอุตสาหกรรม เช่น ผลงานของ Joseph Schumpeter ใน The Theory of Economic Development,1934 โดยจะเน้นไปที่การสร้างสรรค์       การ วิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่การได้มาซึ่ง นวัตกรรมทางเทคโนโลยี        (I n n o v a t i o n T e c h n o l o g y )

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ให้ความหมายของคำว่า นวัตกรรม (innovation) คือ “สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม" และหมายรวมถึงสิ่งที่ เกิดขึ้นจากความสามารถในการใช้ความรู้ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะ และประสบการณ์ทางเทคโนโลยีหรือ การจัดการมาพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิต หรือบริการใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ตลอดจนการปรับปรุงเทคโนโลยีการแพร่กระจายเทคโนโลยีการออกแบบผลิตภัณฑ์และการฝึกอบรมที่นำมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ สาธารณะในรูปแบบของการเกิด ธุรกิจการลงทุน ผู้ประกอบการ หรือตลาดใหม่หรือรายได้แหล่งใหม่รวมทั้งการจ้างงานใหม่ นวัตกรรมจึง เป็นกระบวนการที่เกิดจากการนา ความรู้และความคิดสร้างสรรค์มาผนวก กับความสามารถในการบริหาร จัดการ เพื่อสร้างให้เกิดเป็นธุรกิจนวัตกรรมหรือธุรกิจใหม่อันจะนำไปสู่การลงทุนใหม่ที่ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ดร.เศรษฐชัย ชัยสนิท (2553) ได้ให้ความหมายของคำว่า นวัตกรรม (Innovation) หมายถึงการทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีการใหม่ๆ และยังอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การผลิต กระบวนการ หรือ องค์กร ไม่ว่าการเปลี่ยนนั้นจะเกิดขึ้นจากการการพัฒนาต่อยอด การเปลี่ยนแปลง การประยุกต์หรือ กระบวนการ และในหลายสาขา เชื่อกัน ตรงกันว่า การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเป็นนวัตกรรมได้นั้น จะต้องมีความ ใหม่อย่างเห็นได้ชัด และความใหม่นั้นจะต้องเพิ่มมูลค่าสิ่งต่าง ๆ ได้อีกด้วย โดยเป้าหมายของนวัตกรรมคือ การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพื่อทำให้สิ่งต่างๆ เกิดเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นวัตกรรมก่อให้ได้ผลิตผลเพิ่มขึ้น และเป็นที่มาสำคัญของความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติ
อัจฉรา ส้มเขียวหวาน (2549) ให้ความหมายของนวัตกรรมว่า นวัตกรรมคือ ความคิดหรือการ ปฏิบัติใหม่ ๆ ที่ผิดแปลกไปจากสิ่งที่เคยปฏิบัติมาทั้งหมดหรือการเปลี่ยนแปลงบางส่วนจากสิ่งที่เคยปฏิบัติมาก่อนที่เกิดจากกระบวนการวิจัยที่ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานในปัจจุบัน เพื่อจะนำมาใช้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (2546) นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง วิธีการใหม่ๆ ที่นำมาใช้ซึ่งไม่เคยใช้ในหน่วยงานนั้นมาก่อน อาจเป็นวิธีการใหม่ที่ใช้เป็นคร้ังแรก หรืออาจเป็นวิธีการใหม่ที่เคยใช้ในหน่วยงานอื่นมาก่อน
อำนวย เดชชัยศรี (2544) ให้ความหมายของนวัตกรรมไว้ว่า นวัตกรรมคือ ความใหม่และทันสมัยซึ่งถูกค้นพบโดยสิ่งนั้นไม่เคยมีมาก่อนในโลกนี้เพิ่งจะมีเป็นครั้งแรก อีกประการหนึ่งสิ่งที่ถูกค้นพบถูกเก็บซ่อนไว้โดยยังไม่ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เมื่อนำมาทดสอบหรือทดลองก็เป็นนวัตกรรม
กิดานันท์ มลิทอง (2540) ได้กล่าวไว้ว่า นวัตกรรมเป็นแนวความคิดการปฏิบัติหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อนหรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำนวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย
Everette M. Rogers (1983) ได้ให้ความหมายของคำว่า นวัตกรรม (Innovation) ว่า นวัตกรรม คือ ความคิดการกระทำ หรือสิ่งใหม่ซึ่งถูกรับรู้ว่าเป็นสิ่งใหม่ๆ ด้วยตัวบุคคลแต่ละคนหรือหน่วยอื่น ๆ ของการยอมรับในสังคม (Innovation is a new idea, practice or object, that is perceived as new by the individual or other unit of adoption)
Toffler (2003) ให้ความหมายของนวัตกรรมไว้ว่า นวัตกรรม เป็นการผสมผสานระหว่างเครื่องมือ กล และเทคนิคต่างๆ ที่มี 3 ลักษณะประกอบกันได้แก่
1. จะต้องเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ (creative) และเป็นความคิดที่สามารถปฏิบัติได้ (feasible idea)
2. จะต้องสามารถนำไปใช้ได้ผลจริง (practical application)
3. มีการเผยแพร่ออกสู่ชุมชน (Distribution)
Thormas Hughes (2003) ให้ความหมายของนวัตกรรม (innovation) ไว้ว่า เป็นการนำวิธีการ ใหม่ ๆ มาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้น ๆ แล้ว โดยเริ่มมาตั้งแต่การ
1. คิดค้น (invention)
2. การพัฒนา (development) หรือโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (pilot project)
3. นำไปปฏิบัติจริง (implement)
โดยสรุปแล้ว นวัตกรรมหมายถึง ความคิดและกระบวนการใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนหรือการพัฒนา ดัดแปลงจากของเดิมให้ดีขึ้นและเมื่อนำมาใช้ก็ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นวัตกรรมทางการศึกษา
นวัตกรรมการศึกษา” (Educational Innovation )" หมายถึง นวัตกรรมที่จะช่วยให้การศึกษา และการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิผลสูงกว่าเดิม เกิดแรงจูงใจในการเรียนด้วยนวัตกรรมการศึกษา และประหยัดเวลาในการเรียนได้อีกด้วย ในปัจจุบันมีการใช้นวัตกรรมการศึกษามากมายหลายอย่าง ซึ่งมีทั้งนวัตกรรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว และประเภทที่กำลังเผยแพร่ เช่น การเรียนการสอนที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Aids Instruction) การใช้แผ่นวิดีทัศน์เชิงโต้ตอบ (Interactive Video) สื่อหลายมิติ ( Hypermedia ) และอินเทอร์เน็ต [Internet] เหล่านี้ เป็นต้น (วารสารออนไลน์ บรรณปัญญา.htm)
นวัตกรรมทางการศึกษา” (Educational Innovation) หมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็ตามเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา เพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเกิดแรงจูงใจในการเรียน และช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียน เช่น การสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การใช้วีดิทัศน์เชิงโต้ตอบ (Interactive Video) สื่อหลายมิติ (Hypermedia) และอินเตอร์เน็ต เหล่านี้เป็นต้น
 “นวัตกรรมทางการศึกษา” หมายถึง สิ่งใหม่หรือวิธีการใหม่ ที่นำมาใช้ในการจัดการศึกษา อันได้แก่ แนวคิด เทคนิค วิธีการกระบวน การ แนวปฏิบัติ หรือ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอนของครู และพัฒนาการเรียนรู้ให้มีประสิทธิผลตามเป้าหมายของหลักสูตร ซึ่งอาจพิจารณาได้ ดังนี้
1. เป็นสิ่งที่ใช้แล้วจากที่อื่น แต่นำมาใช้ใหม่ที่นี่
2. เป็นสิ่งที่เคยใช้มาแล้วจากที่อื่น แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขใหม่
3. เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่เพิ่งนำมาทดลองใช้
4. เป็นสิ่งที่ผลิต/สร้างขึ้นใหม่และทดลองใช้ที่นี่เป็นครั้งแรก

ประเภทของนวัตกรรมทางการศึกษา
ประเภทของนวัตกรรมทางการศึกษาที่นิยมนำมาใช้ในการแก้ปัญหา/พัฒนาการเรียนการสอนอาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. สื่อการเรียนการสอน อาทิ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน บทเรียนวีซีดี บทเรียนซีดี บทเรียนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ บทเรียนการ์ตูน แบบฝึกทักษะ ฯลฯ
2. รูปแบบ/วิธีการเรียนการสอนแบบต่างๆ อาทิ วิธีการสอนแบบร่วมมือร่วมใจวิธีการสอนแบบซิปปา (CIPPA Model) วิธีการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง วิธีการสอนฝึกกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
3. หลักสูตรแบบต่างๆ อาทิ หลักสูตรสาระเพิ่มเติม หลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรฝึกอบรม หลักสูตรวิชาชีพต่างๆ ฯลฯ
4. กระบวนการบริหารแบบต่างๆ อาทิ การบริหารเชิงระบบ การบริหารแบบธรรมาภิบาล การบริหารการจัดการความรู้ การบริหารแบบกัลยาณมิตร การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ฯลฯ
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า นวัตกรรมทางการเรียนการสอน หมายถึง กระบวนการ เทคนิค วิธีการ แนวคิด หลักปฏิบัติ เครื่องมือหรือสิ่งใหม่ๆ ที่ได้ผ่านการทดลองและพัฒนาอย่างมีขั้นตอนและเป็นระบบ แล้วนำมาใช้ในการเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของการเรียนการสอน

สื่อการสอนและนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์
          ในการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์นั้นผู้เรียนจะบรรลุจุดประสงค์การเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น       ผู้สอนจะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น ๆ และจะต้องมีเทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อนำสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ไปสู่ผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ หรือมีการใช้สื่อการเรียนการสอน/นวัตกรรมที่น่าสนใจ โดยการที่ครูใช้สื่อการสอน/นวัตกรรมเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอนนั้นจะทำให้ครูมีความมั่นใจในการสอนมากขึ้น เนื่องจากสื่อการสอน/นวัตกรรมมีความหลากหลายและน่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ใช้พัฒนาผู้เรียนได้ทำให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ เรียนรู้อย่างชัดเจน และทำให้ผู้เรียนสนใจเรียนมากขึ้นด้วย ซึ่งสื่อการสอน/นวัตกรรมที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์มีมากมายหลายประเภท เช่น โปรแกรมการคำนวณ เครื่องคำนวณ โปรแกรม GSP บทเรียนสำเร็จรูป เป็นต้น

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
http://www.bangkokeducation.in.th/article-details.php?id=324

http://www.east.spu.ac.th/it/admin/knowledge/A307Innovation%20and%20Technology.pdf