วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ปัญหาการจัดการเรียนการสอน

ปัญหาการจัดการเรียนการสอน

หัวข้อปัญหาการจัดการเรียนการสอน
“นักเรียนมีเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์”
           
แนวคิดทฤษฎีที่สำคัญ
1. แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับเจตคติต่อวิชาคณิตศาสตร์
เจตคติ หมายถึง ท่าทีของบุคคลและความรู้สึกที่แสดงออกต่อสิ่งที่ได้รับมาจากประสบการณ์ และแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่ได้รับนั้น อาจจะโน้มเอียงไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งอาจจะเป็นด้านที่ดีหรือไม่ดีก็ได้
          เจตคติต่อวิชาคณิตศาสตร์ หมายถึง ความรู้สึกหรือความคิดเห็นต่อวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งวัดได้จากแบบสอบถาม (ยุพิน พิพิธกุล. 2527: 13 ;พรรณี ช.เจนจิต. 2528: 543 ;พวงรัตน์ ทวีรัตน์. 2540: 108)
          องค์ประกอบของเจตคติแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1.  องค์ประกอบทางด้านความรู้ ความคิด ความเข้าใจ
2.  องค์ประกอบทางด้านความรู้สึก
3.  องค์ประกอบด้านพฤติกรรมที่กระทำหรือปฏิบัติ
          องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนดังกล่าว มีความสัมพันธ์กัน คือ องค์ประกอบด้านความรู้ ความคิด ความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของบุคคลที่อาจจะแสดงความรู้สึกออกมาในรูปพอใจ ไม่พอใจ ชอบ ไม่ชอบ ฯลฯ ซึ่งความรู้สึกก็จะมีผลต่อการแสดงออกของบุคคลนั้นในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
หลักการวัดเจตคติ   การวัดเจตคติ นับว่ามีความยุ่งยากมากพอสมควร เพราะเป็นการวัด คุณลักษณะภายในของบุคคล ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึก หรือเป็นลักษณะทางจิตใจคุณลักษณะดังกล่าวมีการแปรเปลี่ยนได้ง่ายไม่แน่นอน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เจตคติของบุคคลที่มีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ยังสามารถวัดได้ ซึ่งต้องอาศัยหลักสำคัญดังต่อไปนี้ (ไพศาล  หวังพานิช. 2523: 221 - 223)
1.    ต้องยอมรับข้อตกลงเบื้องต้น เกี่ยวกับการวัดเจตคติ  คือ
      ความคิดเห็น ความรู้สึก หรือเจตคติของบุคคลนั้น จะมีลักษณะคงที่หรือความคงเส้นคงวาอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง
      เจตคติของบุคคลไม่สามารถวัดหรือสังเกตเห็นได้โดยตรง การวัดจะเป็นแบบวัดทางอ้อมโดยวัดจากแนวโน้มที่บุคคลแสดงออกหรือประพฤติปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ
      เจตคตินอกจากจะสามารถแสดงออกในด้านการคิดความรู้สึกยังมีขนาดหรือปริมาณของความคิดความรู้สึกนั้นด้วย ดังนั้นการวัดเจตคติยอกจากจะเป็นการบอกแนวทางและลักษณะแล้วยังสามารถบอกปริมาณระดับความมากน้อย
2.  การวัดเจตคติไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตามต้องมีสิ่งประกอบ 3 อย่าง  คือ  ตัวบุคคลที่ถูกวัด    สิ่งเร้า และต้องมีการตอบสนองซึ่งออกมาเป็นระดับสูงต่ำ มาก น้อย ดังนั้นในการวัดเจตคติของบุคคล         ก็สามารถวัดได้ โดยการนำสิ่งเร้าซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้อความเกี่ยวกับรายละเอียดในส่วนนั้น
3. สิ่งเร้าที่จะนำไปใช้เร้าหรือทำให้บุคคลได้แสดงเจตคติที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกมาที่นิยมใช้คือข้อความวัดเจตคติ ซึ่งเป็นสิ่งเร้าทางภาษาที่ใช้อธิบายถึงคุณค่าคุณลักษณะของสิ่งนั้นเพื่อให้บุคคลตอบสนองออกมาเป็นระดับความรู้สึก
4. การวัดเจตคติเพื่อทราบทิศทาง และระดับความรู้สึกของบุคคลนั้นเป็นผลมาจากการตอบสนองของบุคคลจากรายละเอียด หรือแง่มุมต่าง ๆ ดังนั้นการวัดเจตคติของบุคคลเกี่ยวกับเรื่องใด สิ่งใดต้องพยายามถามถึงคุณค่า และลักษณะในแต่ละด้านของสิ่งนั้นออกมา
5. การวัดเจตคติต้องคำนึงถึงความเที่ยงตรงของการวัดเป็นพิเศษ
2. แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้
ทฤษฎีการเรียนรู้ (Theories of Learning)
          ทฤษฎีการเรียนรู้เป็นพื้นฐาน เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนการสอน ซึ่งทฤษฎีการเรียนรู้นี้จะเป็นหลักของการสอนและวิธีการสอน ทฤษฎีการเรียนรู้แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
1.       ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)
นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้ ได้ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เห็นชัด สามารถวัดได้ สังเกตได้และทดสอบได้ เน้นถึงพฤติกรรมของมนุษย์ แม้จะเน้นกระบวนการภายในแต่ก็พิจารณาพฤติกรรมที่แสดงออก
กมลรัตน์  หล้าสุวงษ์ (2523:23) ได้สรุปแนวความคิดของกลุ่มพฤติกรรมนิยมไว้ว่าพฤติกรรมทุกอย่างจะต้องมีสาเหตุ สาเหตุนั้นมาจากวัตถุหรืออินทรีย์ ซึ่งเรียกว่าสิ่งเร้า (Stimulus) เมื่อมากระตุ้นอินทรีย์ จะมีพฤติกรรมแสดงออกมาเรียกว่า การตอบสนอง (Response) ซึ่งก็คือพฤติกรรมจะเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งเร้ามาเร้าอินทรีย์นั่นเอง
กลุ่มพฤติกรรมนิยมสามารถจำแนกทฤษฎีการเรียนรู้หลัก ๆ ได้ 3 ทฤษฎี (อ้างใน พรรณี  ช.เจนจิต. 2538 : 275-351)
1.   Classical Conditioning หมายถึง การเรียนรู้ใด ๆ ก็ตาม ซึ่งมีลักษณะการเกิดตามลำดับขั้น ดังนี้
     1.1      ผู้เรียนมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าใดสิ่งเร้าหนึ่ง โดยไม่สามารถบังคับได้มีการสะท้อนกลับ (Reflex) ที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการเรียนรู้ (Unlearned หรือ Unconditioned )เป็นไปโดยอัตโนมัติ ผู้เรียนไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมได้
     1.2      การเรียนรู้เกิดขึ้นเพราะความใกล้ชิด และการฝึกหัดโดยการนำสิ่งเร้าที่มีลักษณะเป็นกลาง คือ ไม่สามารถทำให้เกิดการตอบสนองได้มาเป็น Conditioned Stimulus (CS) โดยนำมาควบคู่กับสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดการตอบสนองโดยอัตโนมัติ ทำในเวลาใกล้เคียงกัน และทำซ้ำ ๆ ในที่สุดสิ่งเร้าที่เป็นกลางจะมีผลทำให้ผู้เรียนเกิดการตอบสนองในช่วงที่ผู้เรียนเกิดการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เคยเป็นกลางนั้น เรียกว่า เกิดการเรียนรู้ ชนิดมี Conditioned
2.   Operant Conditionning ทฤษฏีนี้ได้เน้นถึงความสำคัญของการเสริมแรงโดย Skinner มีความคิดเห็นว่า การเสริมแรงจะมีส่วนช่วยให้มนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม พฤติกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะที่ว่าอัตราการแสดงการกระทำต่าง ๆ มักจะมีการกระทำต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เสมอ ๆ พฤติกรรมใดก็ตามที่ได้เป็นการกระทำต่อสิ่งแวดล้อมในลักษณะที่ว่าเป็นผลของอัตราการตอบสนองซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงได้ เราเรียกสิ่งที่ทำให้อัตราการตอบสนองของผู้เรียนมีการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า ตัวเสริมแรง แต่ถ้าพฤติกรรมใดก็ตามไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว หลักการของทฤษฎีนี้ถือว่า พฤติกรรมนั้นไม่ได้รับการเสริมแรง
ทฤษฎีของ Skinner นี้อาจนำมาใช้ในการวัดพฤติกรรม หรือปลุกฝังพฤติกรรม หรือสร้างลักษณะนิสัยใหม่ ๆ ได้ วิธีการวัดพฤติกรรมนี้จำเป็นจะต้องใช้สิ่งเสริมแรงเข้าช่วยในระยะที่ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมที่จะต้องการปลูกฝัง นั่นคือถ้าผู้เรียนกระทำพฤติกรรมตามที่ต้องการจะให้เกิดพฤติกรรมแล้ว จะต้องรีบให้รางวัลโดยทันที
3.   Social  Learning หรือ การเรียนรู้ทางสังคม Benduraมีความเห็นว่าคนเรียนรู้ที่จะสังเกตและเลียนแบบพฤติกรรมของตัวแบบ (ซึ่งตัวแบบอาจจะได้รับแรงเสริมหรือไม่ได้รับก็ได้) กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมจะประกอบด้วย
     3.1      ความใส่ใจ (Attention) จัดได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าผู้เรียนไม่มีความใส่ใจในการเรียนรู้ โดยการสังเกต หรือเลียนแบบก็จะไม่เกิดขึ้น
     3.2      การจดจำ (Retention) เมื่อผู้เรียนมีความใส่ใจในการเรียน ผู้เรียนก็จะสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้
     3.3      การลอกเลียนแบบ (Reproduction) เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนแปรสภาพ สิ่งที่จำได้ออกมาเป็นการกระทำ หรือแสดงพฤติกรรมที่เหมือน หรือใกล้เคียงตัวแบบ
     3.4      แรงจูงใจ (Motivation) หมายถึง การเสริมแรง ซึ่งการเสริมแรงอาจจะมาจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยตรง หรือจากการคาดหวังว่าจะได้รับรางวัลเหมือนตัวแบบ (Vicarious) หรือจากการที่ตั้งมาตรฐานด้วยตนเอง (Self 3-Reinforcement) และได้ให้ข้อเสนอแนะว่า พฤติกรรมทางสังคมหลาย ๆ ชนิด เช่น การก้าวร้าวอาจจะเรียนรู้ได้โดยการเลียนแบบจากตัวแบบ นอกจากนั้นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านวิชาการก็สามารถเรียนรู้ได้จากการสังเกตและเลียนแบบจากตัวแบบ เช่น ความมานะพยายาม ความเชื่อมั่นในตัวเอง และทักษะทางสติปัญญา
          2. ทฤษฎีความรู้ความเข้าใจ หรือทฤษฎีปัญญา (Cognitive Theories)
                   พรรณี ช.เจนจิต (2538:404 406) ได้สรุปแนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มนี้มีความเห็นว่า การศึกษาพฤติกรรมควรเน้นความสำคัญของกระบวนการคิด และการรับรู้ของคน ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าคนทุกคนมีธรรมชาติภายในที่ใฝ่ใจใคร่รู้ใคร่เรียน เพื่อก่อให้เกิดสภาพที่สมดุล ดังนั้นการที่เด็กได้มีโอกาสเรียนตามความต้องการ และความสนใจของตน จะเป็นสิ่งที่มีความหมายสำหรับเด็กมากกว่าที่ครูหรือผู้อื่นจะเป็นผู้บอกให้ ซึ่งก็คือ การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
                   แนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มนี้ ได้มาจากหลักการของ Field theory ซึ่ง Lewin เป็นผู้เสนอไว้ ทฤษฎีนี้เน้นเกี่ยวกับการรับรู้ของคน ซึ่งจะได้รับอิทธิพลทั้งจากวิธีการที่คนจัดสิ่งเร้าเพื่อให้เกิดการรับรู้ หรือจากประสบการณ์ หรือจากความสนใจของบุคคล Lewinได้อธิบายเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมของคน อันเนื่องมาจากการรับรู้ด้วย “Life Space” ซึ่งคนจะแสดงพฤติกรรมตามสิ่งที่ตนรับรู้ภายใน Life Space นั้น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมตามที่เรารับรู้ ดังนั้นในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของคน จำเป็นจะต้องรู้ทุก ๆ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับคน ๆ นั้น ภายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งโดยเฉพาะ แต่มีหลักการบางอย่างของจิตวิทยากลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลจากกลุ่ม Gestalซึ่งเน้นเกี่ยวกับเรื่องความเข้าใจอย่างแท้จริง Bruner ได้ชี้ให้เห็นว่าในการจัดการเรียนการสอนนั้น วิธีที่จะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ และจำสิ่งที่เรียนไปแล้วได้ คือ การใช้ เค้าโครง หรือ โครงสร้าง เพื่อช่วยให้เด็กมองเห็นภาพรวมของสิ่งที่จะเรียนทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถเข้าใจหลักการของสิ่งที่เรียน ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในเรื่องอื่น ๆ ได้อีก นอกจากนั้นยังเป็นลู่ทางที่เด็กจะสามารถเรียนสิ่งอื่นที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ต่อไป
                   ในด้านการจัดการเรียนการสอนนักจิตวิทยากลุ่มนี้ ได้เสนอให้ใช้เทคนิคของ Discovery ซึ่งหมายถึง การที่ให้เด็กได้ค้นพบวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งจากการที่เด็กทำได้ด้วยตนเองเช่นนั้นจะช่วยพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง และทำให้เด็กคุ้นเคยกับทักษะของการแก้ปัญหา นอกจากนั้นยังมีการใช้เทคนิคของการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง การเปิดโอกาสให้เด็กทำผิดพลาด และการคิดผิด เพื่อที่จะได้ทราบความคิดของเด็ก ตลอดจนการใช้เทคนิคการสอบถาม (Inquiry) เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักการตั้งคำถาม
                   หลักการของ Discovery จะเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ ถ้าใช้กับการศึกษาระบบเปิด ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องกิจกรรม การจัดศูนย์การเรียน ความร่วมมือ และการวางแผนของแต่ละบุคคล เทคนิคที่จะใช้ คือ การให้เด็กทำข้อตกลงที่จะทำโครงการใดโครงการหนึ่งให้สำเร็จ การทำงานของเด็กไม่ว่าจะเป็นงานส่วนบุคคล หรืองานกลุ่มก็ตามจะได้รับการกระตุ้น ให้มองเห็นลู่ทางที่จะประสบความสำเร็จ มิใช่เป็นการปล่อยให้เด็กค้นคว้าหาคำตอบเอง โดยไม่รู้ทิศทางเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ซึ่งจะทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
          3. ทฤษฎีของกลุ่มมนุษยนิยม (Humanisticism)
                   กลุ่มมนุษยนิยมจะคำนึงถึงความเป็นคนของคน จะมองธรรมชาติของมนุษย์ในลักษณะที่ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับความดีที่ติดตัวมาแต่กำเนิด มนุษย์เป็นผู้ที่มีอิสระสามารถที่จะนำตนเอง และพึ่งตนเองได้ เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำประโยชน์ให้สังคม มีอิสรเสรีภาพที่จะเลือกทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะไม่ทำให้ผู้ใดเดือนร้อน ซึ่งรวมทั้งตนเองด้วย มนุษย์เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ และเป็นผู้สร้างสรรค์สังคม
                   Maslow (อ้างใน พรรณีช.เจนจิต.2538 : 438 -439) ได้เสนอแนวความคิดใหม่ เรียกว่า Third Force Psychology ซึ่งมีความเชื่อพื้นฐานว่า ถ้าให้อิสรภาพแก่เด็ก เด็กจะเลือกสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง พ่อแม่และครูได้รับการกระตุ้นให้มีความไว้วางใจในตัวเด็กและควรเปิดโอกาสและช่วยให้เด็กเจริญเติบโตต่อไป ไม่ใช่ใช้วิธีการควบคุมและบงการชีวิตของเด็กทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ
                   Rogers (อ้างใน พรรณี ช.เจนจิต. 2538 :440-441) ได้เสนอทฤษฎีให้คำปรึกษาแบบ “Client Centered” เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนแล้วจะออกมาในลักษณะของ ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และลักษณะของครูจะต้องเป็นผู้ที่มีความเชื่อ มีศรัทธาในความเป็นคนของคน การที่เชื่อและไว้วางใจในความสามารถของบุคคล จะช่วยให้บุคคลนั้น ๆ พัฒนาศักยภาพของตนเองได้ดียิ่งขึ้น ฉะนั้น ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกวิธีการที่จะเรียนเอง
                   นอกจากนั้นครูจะต้องมีลักษณะ จริงใจ เป็นคนตรง ไม่แสแสร้ง ในการสร้างสัมพันธภาพจะต้องเป็นตัวของตัวเองอย่างจริง ๆ สิ่งสำคัญคือ ครูจะต้องพยายามสื่อให้เด็กรับทราบถึงความรู้สึกนึกคิดที่ดี ที่ครูมีต่อตัวเด็กให้ได้ ครูจะต้องให้เกียรตินักเรียนทั้งในแง่ของความรู้สึก และความคิดเห็น สิ่งสำคัญสำหรับเจตคติของการเป็นครู คือ ความสามารถที่จะเข้าใจปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากภายในตัวเด็ก ตลอดจนการให้ความสำคัญถึงกระบวนการของการศึกษาที่จะมีผลต่อตัวเด็กเองด้วย
                   สรุปได้ว่าแนวความคิดของกลุ่มมนุษยนิยมที่เกี่ยวกับการศึกษา คือ นักเรียนควรจะได้รับความช่วยเหลือให้มีความเข้าใจในตนเอง มีจุดยืนเป็นของตนเองอย่างชัดเจนว่าตนเองมีความต้องการสิ่งใดแน่และมีจุดมุ่งหมายในชีวิตอย่างไร เพราะในปัจจุบันสิ่งที่เด็กจะต้องตัดสินใจเลือกมีมากมาย คนที่มีจุดยืนที่แน่นอนเท่านั้น จึงจะสามารถเลือกสิ่งที่มีความหมาย และก่อให้เกิดความพึงพอใจให้กับตนเองได้ดีที่สุด นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้มีความคิดเห็นตรงกันว่า เด็กควรได้รับความช่วยเหลือจากครูในทุกด้านไม่ใช่เฉพาะการได้รับความรู้ หรือการมีความเฉลียวฉลาดเพียงอย่างเดียวแต่ควรได้รับความช่วยเหลือให้รู้จักศึกษา และสำรวจเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึกของตนเองและเรียนรู้ที่จะสื่ออารมณ์ความรู้สึกนี้ให้กับผู้อื่น ตลอดจนรู้จักวิธีที่จะระบายอารมณ์ความรู้สึก และทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด เจตคติ และจุดมุ่งหมายความต้องการของตนเอง
Entwistle and Dorothy (อ้างใน จันทนา พรหมศิริ. 2535 : 28) ได้ศึกษาว่า บุคลิกภาพวิธีการเรียนจะมีความสัมพันธ์หรือไม่กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือนิสัยในการเรียนของนักเรียน ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบเก็บตัวจะมีวิธีการเรียนหรือนิสัยในการเรียน และผลการเรียนดีกว่าผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบแสดงตัว ทั้งสองได้สรุปผลการวิจัยได้ว่า นิสิตที่เรียนดีจะมีบุคลิกภาพแบบเก็บตัวมีวิธีการเรียนที่ดี มีแรงจูงใจในการเรียนสูง ตลอดจนมีความมั่นคงในอารมณ์
Bloom แบ่งจุดมุ่งหมายทางการศึกษาออกเป็น 3 ด้าน คือ
1.       พุทธพิสัย (Cognitive Domain)
2.       ทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)
3.       จิตพิสัย (Affective Domain)
องค์ประกอบที่จะทำให้จุดมุ่งหมายทางการศึกษา จะประกอบด้วย 4 ด้าน คือ
1.       อุปกรณ์การสอน (Instructional  Material) อุปกรณ์ที่จะช่วยให้ครูได้ใช้ในการสอนผู้เรียนได้สะดวกและเข้าใจได้ง่าย
2.       กระบวนการสอนของครู (Teaching Process) จากวิธีการถ่ายทอดความรู้ของครูการอธิบายให้ผู้เรียนได้เข้าใจ
3.       กระบวนการของผู้เรียนในการเรียนการสอน (Student Processing of Instruction) เน้นกระบวนการเรียนรู้ของตัวผู้เรียน โดยอาศัยความตั้งใจเอาใจใส่ และความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้
4.       สภาพแวดล้อมทางบ้านและการยอมรับของสังคม (Home Environment and Social Support System) สภาพแวดล้อมทั้งทางบ้านและสังคมทั่วไปมีผลต่อการเรียนรู้ เช่น เพื่อน วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ โดยการฟัง การพบเห็น การติดต่อ บางครั้งเกิดการเรียนรู้โดยไม่รู้ตัว และบางครั้งก็เป็นการเลียนแบบ
ในกระบวนการสอนของครู คุณภาพการสอนของครูนับว่ามีความสำคัญมาก ซึ่งจะประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ คือ
1.       การชี้แนะ (Cues) หมายถึง  การบอกจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอน และงานที่จะต้องทำให้ผู้เรียนได้ทราบอย่างชัดเจน
2.       การมีส่วนร่วม (Participation) หมายถึง การร่วมมือกันในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
3.       การเสริมแรง (Reinforcement) หมายถึง การชมเชย การติ
4.       การใช้ข้อมูลย้อนกลับและแก้ไขข้อบกพร่อง (Feedback and Correction) เป็นการตรวจสอบผลการสอนของครูและผลการเรียนของผู้เรียน แจ้งผลนั้นให้ผู้เรียนทราบ และพิจารณาว่าผู้เรียนยังมีจุดบกพร่องในเรื่องใด ก็จะแก้ไขเพื่อปรับปรุงผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน โดยยึดข้อมูลย้อนกลับนั้น
ปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้
Gagne and Briggs (อ้างใน ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์.2543 :88 94) ได้แบ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้เป็น 2  ประเภท คือ
1.   ปัจจัยภายนอก (External Factors) เป็นปัจจัยเดิมของการเรียนรู้ ได้แก่
     1.1  การต่อเนื่อง (Contiguity) การให้ผู้เรียน เรียนรู้โดยการให้สิ่งเร้าพร้อมกับให้ผู้เรียนตอบสนองในสิ่งที่ต้องการ
     1.2  การทำซ้ำ (Repletion) คือ การให้ผู้เรียน เรียนรู้โดยใช้สิ่งเร้าแล้วตอบสนองหลาย ๆ ครั้งจนสามารถเรียนรู้ได้
     1.3  การให้การเสริมแรง (Reinforcement) การเสริมกำลังใจให้เกิดความพอใจในการเรียนรู้
2.   ปัจจัยภายใน (Internal Factors) เป็นสิ่งภายในที่ผู้เรียนต้องมีเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ได้แก่
     2.1  ข้อเท็จจริง (Factual Information) อาจเรียนขณะนั้นหรือระลึกจากที่เคยเรียนมาแล้ว
     2.2  ทักษะทางปัญญา (Intellectual Skills) หมายถึง ความสามารถในการใช้สมองเพื่อการเรียนรู้โดยระลึกจากประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผ่านมา
     2.3  ยุทธศาสตร์ (Strategies) หมายถึง สมรรถภาพที่ควบคุมการเรียนรู้ ความตั้งใจ การจำและพฤติกรรมการคิดของมนุษย์ เป็นกระบวนการทำงานภายในสมองของมนุษย์ผู้เรียนอาจได้รับแนวทางในขณะเรียนหรือกระตุ้นตนเองจากที่เคยฝึกมาก่อน



 














ภาพที่ 2.1  แสดงปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในที่มีผลการเรียนรู้
ที่มา : ภรณ์ชนก บูรณเรข. 2545 : 19

Gagne  ได้เสนอการจัดสภาพการเรียนรู้ที่เป็นปัจจัยภายนอก ให้สัมพันธ์กับปัจจัยภายในของผู้เรียน ดังนี้  กระบวนการความตั้งใจ (The process of Attending) ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้เรียนที่เลือกหรือไม่เลือกสิ่งที่เรียนรู้ การเก็บข้อมูลไว้ในความจำระยะสั้น (Shorter Memory Storage) การเก็บไว้ในความจำระยะสั้นมีความสามารถเก็บข้อมูลอย่างจำกัด ซึ่งต้องการการทบทวนเพื่อให้เก็บได้นานขึ้น การใส่รหัสข้อมูล (Encoding) เป็นการเปลี่ยนรูปของความคิดรวบยอดเป็นข้อมูลที่มีความหมาย การเก็บ (Storage) ข้อมูลที่ถูกเปลี่ยนเป็นรหัสนี้ จะเก็บไว้ในความจำระยะยาว การเรียกคืน (Retrieval) เพื่อแสดงว่าการเรียนรู้อย่างถูกต้อง สิ่งที่จะเรียนจะต้องรับการเรียกคืนจากความจำระยะยาว  การทำให้เกิดการตอบสนอง (Response Generation) และการแสดงพฤติกรรม (Performance) การแสดงออกของสิ่งที่เรียนรู้
ดังนั้นการจัดสภาพปัจจัยภายนอก ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ต้องสัมพันธ์กับปัจจัยภายในซึ่ง Gagne ได้แบ่งไว้เป็น 8 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ
1.       ขั้นการจูงใจ (Motivation Phase) ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้เมื่อได้รับแรงจูงใจ
2.       ขั้นการรับรู้ (Apprehending Phase) เป็นขั้นที่ผู้เรียนรับรู้สิ่งจูงใจทำให้เกิดความตั้งใจที่จะเรียนรู้
3.       ขั้นการเรียนรู้ (Acquisition Phase) เป็นขั้นที่ผู้เรียนได้ข้อมูลที่ต้องการรับรู้ ผู้เรียนรับไว้ในความจำระยะสั้น  และจัดเข้ารหัสความจำระยะยาว
4.       ขั้นการจำ  (Retention Phase) ข้อมูลที่รับการเข้าในความจำระยะยาวจะถูกนำเก็บไว้
5.       ขั้นระลึกได้ (Recall Phase) ผู้เรียนจะต้องระลึกสิ่งที่เรียนได้ เพื่อจะได้ก่อพฤติกรรม
6.       ขั้นสรุป (Generalization Phase) เป็นการสรุปจากสิ่งที่ได้เรียนไปแล้ว
7.       ขั้นแสดงตามพฤติกรรม (Performance Phase) เป็นขั้นที่เห็นได้จากการตอบสนองของผู้เรียน
8.       ขั้นข้อมูลย้อนกลับ (Feedback Phase) เป็นการแสดงออกในสิ่งที่เรียกว่า เขาได้พอใจในสิ่งที่เรียนหรือไม่
              หลักการเรียนรู้ของ Gagne and Briggs มีดังนี้ หลักการสอนที่ได้มาจากหลักการเรียนรู้ตามทฤษฎีใหม่ ในเรื่องรูปแบบกระบวนการจัดเก็บข้อมูล หลักการจัดสภาพการเรียนรู้ว่าจะต้องเป็นไปตามประเภทการเรียนรู้ซึ่งมีปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในที่แตกต่างกัน หลักการจัดรูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นระบบ การนำหลักการเรียนรู้ของ Gagne ที่ครูสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการสอน มีดังนี้
1.       เร้าความสนใจ เป็นการนำเข้าสู่บทเรียน
2.       แจ้งวัตถุประสงค์ในเรื่องที่เรียน
3.       ทบทวนความรู้เดิม ก่อนจะเริ่มบทเรียนใหม่
4.       เสนอบทเรียนใหม่ โดยใช้อุปกรณ์มาช่วย
5.       ครูให้แนวทางความรู้เพื่อเป็นพื้นฐานที่ผู้เรียนจะฝึกทักษะปฏิบัติได้
6.       ผู้เรียนฝึกทักษะปฏิบัติ
7.       ผู้เรียนทราบผลของการฝึกทักษะปฏิบัติ
8.       ประเมินผลการเรียนการสอนตามวัตถุประสงค์
9.       เน้นให้เกิดความแม่นยำและสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ได้
              สรุปได้ว่าปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้ จะแบ่งออกเป็นปัจจัยภายนอก ซึ่งได้แก่ความต่อเนื่อง การทำซ้ำ และการเสริมแรง ส่วนปัจจัยภายในประกอบด้วยข้อเท็จจริง ทักษะทางปัญญาและยุทธศาสตร์ ปัจจัยทั้งภายนอกและภายในจะต้องสอดคล้อง และสัมพันธ์กันจึงทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
             
เครื่องมือทางเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอน
          โปรแกรม GSP

บรรณานุกรม
พรรณี ช.เจนจิต. (2538).  จิตวิทยาการเรียนการสอน. กรุงเทพฯ: ต้นอ้อแกรมมี่.
พวงรัตน์ ทวีรัตน์. (2530). การสร้างและพัฒนาแบบทดสอบผลสัมฤทธิ์.กรุงเทพฯ : สำนัก         ทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร.
ไพศาล  หวังพานิช.  (2526).  การวัดผลการศึกษา.  กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.
ยุพิน พิพิธกุล. (2539). การเรียนการสอนคณิตศาสตร์. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.
จันทนา  พรหมศิริ. รายงานการวิจัยสถาบันเรื่องสาเหตุการสละสิทธิ์การเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย
          เทคโนโลยีสุรนารีของนักศึกษาประเภทโควตารุ่นปีการศึกษา
2540.
   นครราชสีมา :
          [ศูนย์บริการการศึกษา] มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, 2540.

ปรียาพร  วงศ์อนุตรโรจน์. (2546). การบริหารงานวิชาการ. กรุงเทพฯ : ศูนย์สื่อเสริมกรุงเทพ.