การแก้ปัญหาเจตคติของนักเรียนในการเรียนรู้คณิตศาสตร์
นางพรรณี อุ่นละม้าย รหัส 5751751603301
ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาคณิตศาสตรศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
บทนำ
จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่
4 ที่เลือกเรียนสาขาภาษาอังกฤษ-ภาษาจีน พบว่า
สาเหตุส่วนใหญ่ที่นักเรียนเลือกเรียนสาขานี้ก็เนื่องด้วย นักเรียนไม่ต้องการที่จะเรียนคณิตศาสตร์
หรือถ้าจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ คือ ขอไม่คบค้าสมาคมกับวิชาคณิตศาสตร์โดยเด็ดขาด และเมื่อนักเรียนสาขานี้ต้องมาเรียนคณิตศาสตร์
ซึ่งเป็นวิชาที่นักเรียนเหล่านั้นไม่ต้องการจะเรียน
จึงเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะทำให้การจัดการเรียนการสอนให้ประสบผลสำเร็จ
ไม่ว่าเราจะพร่ำสอนให้นักเรียนฟังทุกวันว่า “คณิตศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาต่อในอนาคตและการดำรงชีวิต”
มันก็ไม่ได้ช่วยให้นักเรียนเหล่านั้นรู้สึกอยากเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น
เพราะนักเรียนยังไม่ได้รู้สึกดีกับการเรียนคณิตศาสตร์
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่า เราจะจัดการอย่างไรเพื่อให้นักเรียนสาขานี้หันกลับมายอมรับที่จะเรียนคณิตศาสตร์ด้วยความเต็มใจต่างหาก
บทความนี้ ผู้เขียนจึงต้องการนำเสนอแนวคิดที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวเบื้องต้นโดยการนำเทคโนโลยีหรือสื่อต่างๆ
ที่จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนสนใจเรียนมากขึ้น
เนื้อหา
“ยาก น่าเบื่อ
คิดซับซ้อนเกินกว่าที่จะทำได้” เป็นความคิดเห็นส่วนใหญ่ของภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในวิชาคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่
4
สาขาภาษาอังกฤษ-ภาษาจีนที่มีผลมาจากการที่ผู้เขียนได้ทำการสอบถามนักเรียนสาขานี้ในช่วงเปิดภาคเรียนที่
1 ซึ่งผลที่ได้ก็สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เขียนได้ประสบมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ผ่านมา
จนในที่สุดผู้เขียนรู้สึกว่า มันน่าจะมีวิธีการหรือแนวทางในการที่จะทำให้นักเรียนรู้สึกว่า
วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่สามารถเรียนรู้ได้ คิดได้
มีวิธีการที่หาผลลัพธ์โดยการใช้หลักของเหตุและผลในการเรียน
ซึ่งไม่ยากเกินกว่าที่จะทำได้ ซึ่งถ้านักเรียนรู้สึกดีกับวิชาคณิตศาสตร์แล้ว
นักเรียนน่าจะอยากเรียนรู้มากขึ้นและเรียนรู้ด้วยความเต็มใจ สอดคล้องกับคำกล่าวของ
Maslow
(อ้างใน พรรณี ช.เจนจิต.2538 : 438 -439) ได้เสนอแนวความคิดใหม่
เรียกว่า Third Force Psychology ซึ่งมีความเชื่อพื้นฐานว่า “ถ้าให้อิสรภาพแก่เด็ก เด็กจะเลือกสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง
พ่อแม่และครูได้รับการกระตุ้นให้มีความไว้วางใจในตัวเด็กและควรเปิดโอกาสและช่วยให้เด็กเจริญเติบโตต่อไป
ไม่ใช่ใช้วิธีการควบคุมและบงการชีวิตของเด็กทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ”
เมื่อคิดได้ดังนั้น ผู้เขียนจึงพยายามหาวิธีและยุทธวิธีต่างๆ
เพื่อที่จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้
คือทำอย่างไรก็ได้ให้นักเรียนสาขานี้กลับมาเรียนคณิตศาสตร์ด้วยความเต็มใจ แต่เพื่อให้ผู้เขียนได้รับความรู้และแนวคิดที่ถูกต้องในการที่จะชักจูงให้นักเรียนหันกลับมาเรียนคณิตศาสตร์ด้วยความเต็มใจ
ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ต่อไปอย่างยั่งยืน
ผู้เขียนจึงเริ่มลงมือศึกษาหาความรู้ที่เป็นแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับเจตคติและทฤษฎีการเรียนรู้ดังนี้
1.
แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับเจตคติต่อวิชาคณิตศาสตร์
เจตคติ
หมายถึง ท่าทีของบุคคลและความรู้สึกที่แสดงออกต่อสิ่งที่ได้รับมาจากประสบการณ์
และแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่ได้รับนั้น
อาจจะโน้มเอียงไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งอาจจะเป็นด้านที่ดีหรือไม่ดีก็ได้
เจตคติต่อวิชาคณิตศาสตร์
หมายถึง ความรู้สึกหรือความคิดเห็นต่อวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งวัดได้จากแบบสอบถาม (ยุพิน พิพิธกุล. 2527: 13 ;พรรณี ช.เจนจิต.
2528: 543 ;พวงรัตน์ ทวีรัตน์. 2540: 108)
องค์ประกอบของเจตคติแบ่งออกเป็น
3 ส่วน คือ
1. องค์ประกอบทางด้านความรู้ ความคิด ความเข้าใจ
2. องค์ประกอบทางด้านความรู้สึก
3. องค์ประกอบด้านพฤติกรรมที่กระทำหรือปฏิบัติ
องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนดังกล่าว มีความสัมพันธ์กัน คือ องค์ประกอบด้านความรู้ ความคิด
ความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของบุคคลที่อาจจะแสดงความรู้สึกออกมาในรูปพอใจ
– ไม่พอใจ ชอบ – ไม่ชอบ ฯลฯ
ซึ่งความรู้สึกก็จะมีผลต่อการแสดงออกของบุคคลนั้นในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
2.
แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้
1.
ทฤษฎีการเรียนรู้ (Theories
of Learning)
Operant
Conditionning ทฤษฏีนี้ได้เน้นถึงความสำคัญของการเสริมแรงโดย Skinner
มีความคิดเห็นว่า
การเสริมแรงจะมีส่วนช่วยให้มนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
พฤติกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะที่ว่าอัตราการแสดงการกระทำต่าง ๆ
มักจะมีการกระทำต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เสมอ ๆ
พฤติกรรมใดก็ตามที่ได้เป็นการกระทำต่อสิ่งแวดล้อมในลักษณะที่ว่าเป็นผลของอัตราการตอบสนองซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงได้
เราเรียกสิ่งที่ทำให้อัตราการตอบสนองของผู้เรียนมีการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า
ตัวเสริมแรง แต่ถ้าพฤติกรรมใดก็ตามไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว
หลักการของทฤษฎีนี้ถือว่า พฤติกรรมนั้นไม่ได้รับการเสริมแรง
ทฤษฎีของ
Skinner
นี้อาจนำมาใช้ในการวัดพฤติกรรม หรือปลูกฝังพฤติกรรม
หรือสร้างลักษณะนิสัยใหม่ ๆ ได้
วิธีการวัดพฤติกรรมนี้จำเป็นจะต้องใช้สิ่งเสริมแรงเข้าช่วยในระยะที่ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมที่จะต้องการปลูกฝัง
นั่นคือถ้าผู้เรียนกระทำพฤติกรรมตามที่ต้องการจะให้เกิดพฤติกรรมแล้ว
จะต้องรีบให้รางวัลโดยทันที
2.
ทฤษฎีความรู้ความเข้าใจ หรือทฤษฎีปัญญา (Cognitive Theories)
พรรณี ช.เจนจิต (2538:404 – 406)
ได้สรุปแนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มนี้มีความเห็นว่า การศึกษาพฤติกรรมควรเน้นความสำคัญของกระบวนการคิด
และการรับรู้ของคน ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าคนทุกคนมีธรรมชาติภายในที่ใฝ่ใจใคร่รู้ใคร่เรียน
เพื่อก่อให้เกิดสภาพที่สมดุล ดังนั้นการที่เด็กได้มีโอกาสเรียนตามความต้องการ
และความสนใจของตน
จะเป็นสิ่งที่มีความหมายสำหรับเด็กมากกว่าที่ครูหรือผู้อื่นจะเป็นผู้บอกให้
ซึ่งก็คือ “การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ”
3. ทฤษฎีของกลุ่มมนุษยนิยม (Humanisticism)
กลุ่มมนุษยนิยมจะคำนึงถึงความเป็นคนของคน
จะมองธรรมชาติของมนุษย์ในลักษณะที่ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับความดีที่ติดตัวมาแต่กำเนิด
มนุษย์เป็นผู้ที่มีอิสระสามารถที่จะนำตนเอง และพึ่งตนเองได้ เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำประโยชน์ให้สังคม
มีอิสรเสรีภาพที่จะเลือกทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะไม่ทำให้ผู้ใดเดือนร้อน
ซึ่งรวมทั้งตนเองด้วย มนุษย์เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ และเป็นผู้สร้างสรรค์สังคม
Maslow
(อ้างใน พรรณีช.เจนจิต.2538 : 438 -439) ได้เสนอแนวความคิดใหม่
เรียกว่า Third Force Psychology ซึ่งมีความเชื่อพื้นฐานว่า “ถ้าให้อิสรภาพแก่เด็ก เด็กจะเลือกสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง
พ่อแม่และครูได้รับการกระตุ้นให้มีความไว้วางใจในตัวเด็กและควรเปิดโอกาสและช่วยให้เด็กเจริญเติบโตต่อไป
ไม่ใช่ใช้วิธีการควบคุมและบงการชีวิตของเด็กทั้งหมด
เพื่อให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ”
Rogers (อ้างใน พรรณี ช.เจนจิต. 2538 :440-441)
ได้เสนอทฤษฎีให้คำปรึกษาแบบ “Client Centered”
เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนแล้วจะออกมาในลักษณะของ “ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ” และลักษณะของครูจะต้องเป็นผู้ที่มีความเชื่อ
มีศรัทธาในความเป็นคนของคน การที่เชื่อและไว้วางใจในความสามารถของบุคคล
จะช่วยให้บุคคลนั้น ๆ พัฒนาศักยภาพของตนเองได้ดียิ่งขึ้น ฉะนั้น
ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกวิธีการที่จะเรียนเอง
จากการศึกษาข้างต้นที่กล่าวมา
จึงส่งผลให้ผู้เขียนต้องการที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเภทโปรแกรม GSP และการเล่นเกมมาช่วยในการแก้ปัญหาเจตคติของนักเรียนในการเรียนรู้คณิตศาสตร์
บทสรุป
นอกเหนือจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว
การที่ครูจะชักจูงนักเรียนให้หันกลับมาเรียนคณิตศาสตร์ด้วยความเต็มใจแล้ว ครูยังจะต้องมีลักษณะจริงใจ
เป็นคนตรง ไม่แสแสร้ง ในการสร้างสัมพันธภาพจะต้องเป็น ตัวของตัวเองอย่างจริง ๆ สิ่งสำคัญคือ
ครูจะต้องพยายามสื่อให้เด็กรับทราบถึงความรู้สึกนึกคิดที่ดีที่ครูมีต่อตัวเด็กให้ได้
ครูจะต้องให้เกียรตินักเรียนทั้งในแง่ของความรู้สึก และความคิดเห็น
สิ่งสำคัญสำหรับเจตคติของการเป็นครู คือ ความสามารถที่จะเข้าใจปฏิกิริยาต่าง ๆ
ที่เกิดขึ้นจากภายในตัวเด็ก
ตลอดจนการให้ความสำคัญถึงกระบวนการของการศึกษาที่จะมีผลต่อตัวเด็กเองด้วย
อีกทั้งครูยังต้องมีกลยุทธ์ กระบวนการสอน อุปกรณ์การสอน และเคล็ดลับดีๆที่จะนำเสนอต่อผู้เรียน
เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในสิ่งที่เรียนมากขึ้น
อีกทั้งลบคำเบื่อของนักเรียนด้วย
ดังนั้นผู้เขียนจึงต้องการแก้ปัญหาเจตคติของนักเรียนในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ
ประเภทโปรแกรม GSP
และการเล่นเกมมาช่วยในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียน
อ้างอิง
พรรณี
ช.เจนจิต. (2538). จิตวิทยาการเรียนการสอน. กรุงเทพฯ: ต้นอ้อแกรมมี่.
พวงรัตน์
ทวีรัตน์.
(2530). การสร้างและพัฒนาแบบทดสอบผลสัมฤทธิ์.กรุงเทพฯ : สำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร.
ยุพิน
พิพิธกุล.
(2539). การเรียนการสอนคณิตศาสตร์. กรุงเทพฯ
: บพิธการพิมพ์.
http://www.mc41.com เวบไซต์การศึกษา เพื่อครูอาจารย์
และลูกหลานไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น